ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 
ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ว่าด้วยการส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่นและองค์กรมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจ
พ.ศ. ๒๕๕๑
                     

ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ มาตรา ๗ และมาตรา ๑๘ (๑) และมติคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ ๖/๒๕๔๘ เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๘ ได้ออกระเบียบ ก.ต.ช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการส่งเสริมให้ท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจ พ.ศ. ๒๕๔๙ ไปแล้วนั้น

เพื่อให้การส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชนและท้องถิ่นมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ จึงออกระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑  ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น และองค์กรมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจ พ.ศ. ๒๕๕๑”

ข้อ ๒  ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป

ข้อ ๓  ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติรักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจในการวินิจฉัยและชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการตามระเบียบนี้

ข้อ ๔  ในระเบียบนี้
“การส่งเสริม” หมายความว่า การริเริ่ม ชักนำ ผลักดัน ให้กำลังใจ กระตุ้น เชิญชวน และให้หมายรวมถึงการกระทำที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันนั้นด้วย
“ประชาชน” หมายความว่า บุคคลที่พำนักหรือเข้ามาทำงานในพื้นที่ (ลักษณะประชากรแฝง) รวมตลอดถึง ชาวต่างชาติที่สมรสกับคนไทยและมีถิ่นที่อยู่อาศัยในประเทศไทย
“ชุมชน” หมายความว่า การอยู่รวมกัน การเกาะเกี่ยวกันของประชาชน
“ท้องถิ่น” หมายความว่า ชุมชนที่มีการบริหารการจัดการ และการปกครอง
“องค์กร” หมายถึง หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่มีการรวมตัวกันเพื่อดำเนินภารกิจ หรือกิจกรรม อันนำไปสู่เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
“เครือข่ายชุมชนลักษณะปฏิบัติการ” หมายความว่า การเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการตำรวจของประชาชนในลักษณะของการเปิดเผยแสดงตัว มีการกำหนดให้แต่งเครื่องแบบชัดเจน มีบัตรประจำตัวสมาชิกและรหัสสมาชิก
“เครือข่ายชุมชนลักษณะแนวร่วม” หมายความว่า การเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการตำรวจของประชาชน ทั้งในลักษณะของการเปิดเผยแสดงตัว หรือในลักษณะที่ไม่ต้องการเปิดเผยตัวโดยที่ไม่ต้องกำหนดให้แต่งเครื่องแบบ อาจมีหรือไม่มีบัตรประจำตัวสมาชิกและรหัสสมาชิก
“อาสาสมัครตำรวจบ้าน” หมายความว่า แนวร่วมประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในกิจการตำรวจลักษณะปฏิบัติการ เพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยและป้องกันปราบปรามอาชญากรรม
“อาสาจราจร” หมายความว่า แนวร่วมประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในกิจการตำรวจลักษณะปฏิบัติการ เพื่อสนับสนุนการจัดการจราจร
“กต.ตร.สน.” หมายความว่า คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาล ตามระเบียบ ก.ต.ช. ว่าด้วยคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ
“กต.ตร.สภ.” หมายความว่า คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจสถานีตำรวจภูธร ตามระเบียบ ก.ต.ช. ว่าด้วยคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ

หมวด ๑
การมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน ท้องถิ่นและองค์กรในกิจการตำรวจ
                     

ข้อ ๕  รูปแบบการมีส่วนร่วม
(๑) การมีส่วนร่วม แบ่งเป็น ๓ รูปแบบที่สำคัญ คือ
(๑.๑) การมีส่วนร่วมของประชาชนทั่วไป
(๑.๑.๑) เครือข่ายชุมชนลักษณะปฏิบัติการ
(๑.๑.๒) เครือข่ายชุมชนลักษณะแนวร่วม
(๑.๒) การมีส่วนร่วมขององค์กร ได้แก่ องค์กรหรือมูลนิธิต่างๆ
(๑.๓) การมีส่วนร่วมของพนักงานรักษาความปลอดภัยเอกชน

ข้อ ๖  วัตถุประสงค์
(๑) เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น และองค์กรในกิจการตำรวจ
(๒) เพื่อกำหนด ปรับและยกระดับลักษณะการมีส่วนร่วมต่างๆ ให้เป็นรูปแบบและมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ โดยเลือกใช้รูปแบบตามสถานการณ์
(๓) เพื่อเสนอให้การมีส่วนร่วมแต่ละรูปแบบ มีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับรองรับอย่างถูกต้อง
(๔) เพื่อให้การมีส่วนร่วมของส่วนต่างๆ ทั้ง ๓ รูปแบบ เป็นเครือข่ายโยงใยซึ่งกันและกันสามารถสนับสนุนและเกื้อกูลกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
(๕) เพื่อให้สถานีตำรวจนำรูปแบบมาตรฐานที่กำหนดไว้ไปปรับใช้ให้เหมาะสมตามสภาพของสถานีตำรวจ

ข้อ ๗  การมีส่วนร่วมของประชาชนทั่วไป
เป็นการแสวงหาความร่วมมือจากประชาชนของสถานีตำรวจ แบ่งเป็น ๒ ส่วน ได้แก่
(๑) เครือข่ายชุมชนลักษณะปฏิบัติการ เป็นการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมปฏิบัติกับตำรวจเพื่อป้องกันปราบปรามอาชญากรรม รักษาความสงบเรียบร้อยและรักษาความปลอดภัยให้แก่ชุมชนและท้องถิ่น ช่วยเหลือและสนับสนุนการจัดการจราจร รวมถึงการเข้าร่วมในการป้องกันภัยระงับเหตุและช่วยเหลือหรือกู้ภัยจากอุบัติภัยต่างๆ
(๒) เครือข่ายชุมชนลักษณะแนวร่วม เป็นการเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานตำรวจ

ข้อ ๘  เครือข่ายชุมชนลักษณะปฏิบัติการ
(๑) วัตถุประสงค์
(๑.๑) เพื่อแสวงหาความร่วมมือจากประชาชน/ชุมชน/ท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม คุ้มครองตนเองและชุมชน
(๑.๒) เพื่อเสริมสร้างบทบาทของกลุ่มพลังในการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของชุมชน/ท้องถิ่น
(๒) ประเด็น/ขอบเขตการดำเนินงาน
(๒.๑) อาสาสมัครตำรวจบ้าน
(๑) รูปแบบการจัดแนวร่วมเชิงปฏิบัติการ
 เป็นการแสวงหาความร่วมมือจากประชาชนให้เข้ามาร่วมปฏิบัติกับเจ้าพนักงานตำรวจในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ยาเสพติด และอุบัติภัยต่างๆ รวมทั้งการตรวจตราของตำรวจสายตรวจ
(๒) กลุ่มเป้าหมาย
(๒.๑) ประชาชนทั่วไป ซึ่งมีภูมิลำเนาในเขตพื้นที่ของสถานีตำรวจ
(๒.๒) ผู้นำชุมชน หรือผู้นำท้องถิ่น และสมาชิกอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.)
(๒.๓) บุคคลในสถาบันต่างๆ ที่สมัครใจในการปฏิบัติหน้าที่และอุทิศเวลาให้กับชุมชนที่ตนพักอาศัย หรือสามารถช่วยเหลือทางราชการได้ตามสมควร
(๓) บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ
(๓.๑) เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(๓.๒) เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานตำรวจในการรักษาความสงบเรียบร้อยการบริการและอำนวยความสะดวกด้านการจราจร
(๓.๓) แจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย ข้อมูลอาชญากรรม เบาะแสคนร้ายคดีอาญาทั่วไปและคดียาเสพติด
(๓.๔) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งจุดตรวจ จุดสกัดในพื้นที่
(๓.๕) ประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้นำชุมชนในหมู่บ้านรวมทั้งเป็นเครือข่ายของฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่
(๓.๖) นอกเหนือจาก (๓.๑) ถึง (๓.๕) อำนาจในการจับกุมผู้กระทำความผิดให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(๔) วิธี/ขั้นตอนการดำเนินงาน
(๔.๑) ให้สถานีตำรวจร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนคัดเลือกบุคคลที่สมัครใจเป็นสมาชิกอาสาสมัครตำรวจบ้าน โดยใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกสมาชิกหมู่บ้านละ ๕ - ๑๐ คน
(๔.๒) ให้สถานีตำรวจจัดทำโครงการฝึกอบรมให้มีความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ
(๔.๓) อาสาสมัครตำรวจบ้านที่ผ่านการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ให้หัวหน้าสถานีตำรวจมอบวุฒิบัตรและบัตรประจำตัวอาสาสมัครตำรวจบ้านตามแบบท้ายระเบียบ พร้อมทั้งออกคำสั่งแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานตำรวจ
(๔.๔) ให้สถานีตำรวจจัดฝึกทบทวนในเชิงปฏิบัติการแก่สมาชิกอาสาสมัครตำรวจบ้าน ปีละ ๑ ครั้ง และซักซ้อมการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน
(๔.๕) ให้สถานีตำรวจจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงาน และ อุปสรรคปัญหา ข้อขัดข้องทุก ๖ เดือน
(๒.๒) อาสาจราจร
(๑) รูปแบบการจัดแนวร่วมเชิงปฏิบัติการ
 เป็นการดำเนินการจัดกลุ่มเยาวชน ราษฎรอาสาสมัคร ผู้แทนชุมชน หน่วยงานเอกชน เป็นต้น โดยผ่านการฝึกอบรมอาสาจราจรให้มีความรู้เกี่ยวกับระเบียบ กฎหมายด้านการจราจร ทักษะและการใช้รถใช้ถนนที่ถูกต้อง เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาจราจร โดยให้เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน
(๒) กลุ่มเป้าหมาย
(๒.๑) เยาวชนจากสถานศึกษาในพื้นที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจ
(๒.๒) พนักงานรักษาความปลอดภัยเอกชนของบริษัท ห้างร้านต่างๆ
(๒.๓) เจ้าหน้าที่อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน
(๒.๔) หน่วยสารวัตรทหารในพื้นที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจ
(๒.๕) ผู้นำชุมชน หรือผู้นำท้องถิ่น
(๒.๖) บุคคลที่สมัครใจในการปฏิบัติหน้าที่และอุทิศเวลาให้แก่ชุมชนที่ตนพักอาศัย หรือสามารถช่วยเหลือทางราชการได้ตามสมควร
(๓) บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ
 เมื่อเป็นผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมและทดสอบความรู้ของหลักสูตรอาสาจราจรแล้ว จะได้รับการพิจารณาแต่งตั้งเป็นอาสาจราจร โดยให้หน่วยงานหรือสถานีตำรวจเป็นผู้จัดการฝึกอบรม จัดทำทะเบียน ประวัติ กำหนดหมายเลขประจำตัว และทำหน้าที่ดังนี้
(๓.๑) การตรวจ ควบคุม และการจัดการจราจรบริเวณที่มีการจราจรติดขัด คับคั่ง ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน หรือกรณีพนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอ เว้นแต่กรณีไม่มีพนักงานเจ้าหน้าที่อยู่ในที่นั้นก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยลำพัง
(๓.๒) ดูแล การหยุดรถ จอดรถ การข้ามทาง ในบริเวณที่มีการฝ่าฝืนกฎหมายจนการจราจรไม่สะดวก เพื่อให้การจราจรมีความสะดวก และปลอดภัย
(๓.๓) ชี้แจง ตักเตือน แนะนำ ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนทราบถึงระเบียบวิธีการที่ถูกต้องและปฏิบัติตามวินัยจราจร
(๓.๔) รายงานการกระทำผิดของผู้ขับรถ การชำรุดเสียหายข้อขัดข้องของเครื่องหมายและสัญญาณจราจรให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบเพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
(๓.๕) แจ้งอุบัติเหตุการจราจรให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบโดยมิชักช้า
(๔) วิธี/ขั้นตอนการดำเนินงาน
(๔.๑) ให้สถานีตำรวจแต่งตั้งคณะทำงานดำเนินการอาสาจราจรประกอบด้วย
(๔.๑.๑) ที่ปรึกษา แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนกลาง กรุงเทพมหานคร ได้แก่ ผู้แทนสถาบันการศึกษา ผู้แทนสำนักงานเขต ผู้แทนผู้ประกอบธุรกิจกต.ตร.สน. ส่วนภูมิภาค ได้แก่ ผู้แทนนายอำเภอ นายกเทศมนตรี เทศบาล นายกองค์การ บริหารส่วนตำบล ผู้อำนวยการสถานศึกษา ภาคเอกชน กต.ตร.สภ.
(๔.๑.๒) คณะทำงาน ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติงานจราจรประชาชนในพื้นที่ และอาสาจราจร
(๔.๒) ให้สถานีตำรวจศึกษาข้อมูล จัดประชุมคณะทำงานเพื่อวางแผนกำหนดแนวทางดำเนินการ ระยะเวลาการดำเนินการ และการประเมินผล
(๔.๓) ให้สถานีตำรวจฝึกอบรมอาสาจราจร
(๔.๔) ให้สถานีตำรวจจัดทำบัตรประจำตัวอาสาจราจรตามแบบท้ายระเบียบ
(๔.๕) ให้สถานีตำรวจจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงาน และอุปสรรคปัญหา ข้อขัดข้องทุก ๖ เดือน

ข้อ ๙  เครือข่ายชุมชนลักษณะแนวร่วม
(๑) วัตถุประสงค์
(๑.๑) เพื่อแสวงหาความร่วมมือจากประชาชน/ชุมชน/ท้องถิ่น โดยการเข้าถึงประชาชน สร้างศรัทธา ให้ความรู้ แนะนำวิธีการปฏิบัติ
(๑.๒) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมการป้องกันตัวเองของประชาชน และการป้องกันอุบัติภัย
(๒) ประเด็น/ขอบเขตการดำเนินงาน
(๒.๑) รูปแบบลักษณะแนวร่วม
 เป็นการแสวงหาความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เช่น ตั้งเครือข่ายเพื่อติดต่อสื่อสารระหว่างสมาชิกเพื่อแจ้งข่าวอาชญากรรม การสร้างชุมชนเข้มแข็งและความร่วมมือในลักษณะเพื่อนบ้านเตือนภัย เป็นต้น
(๒.๒) กลุ่มเป้าหมาย
(๒.๒.๑) ประชาชนทั่วไป ที่พักอาศัยในเขตพื้นที่ของสถานีตำรวจหรือพื้นที่ใกล้เคียง หรือประกอบอาชีพในพื้นที่สถานีตำรวจ
(๒.๒.๒) ผู้นำ/กรรมการชุมชน หรือผู้นำ/กรรมการท้องถิ่น
(๒.๒.๓) นักเรียน นิสิต นักศึกษา พนักงานรัฐวิสาหกิจที่สมัครใจพร้อมที่จะเข้าร่วมกิจกรรมของตำรวจเพื่อป้องกันชุมชน/ท้องถิ่นของตนเองให้ปราศจากอาชญากรรมและยาเสพติด
(๒.๒.๔) พนักงานรักษาความปลอดภัยเอกชน
(๒.๒.๕) ผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะและรถจักรยานยนต์รับจ้าง
(๒.๓) บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ
(๒.๓.๑) ผู้ผ่านการอบรมเป็นแกนนำให้คำปรึกษา ให้ความรู้ด้านต่างๆ แก่ประชาชนในพื้นที่ที่พักอาศัยหรือประกอบอาชีพ
(๒.๓.๒) เป็นตัวแทนในการประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือจากชุมชน/ท้องถิ่น
(๒.๓.๓) จัดข้อมูลเบื้องต้นของชุมชน/ท้องถิ่นเกี่ยวกับพฤติการณ์ของบุคคลในพื้นที่ เพื่อใช้ประกอบการปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
(๒.๓.๔) แจ้งข้อมูลเบาะแส ข่าวสารเกี่ยวกับอาชญากรรม ยาเสพติดและอุบัติภัย
(๒.๔) วิธี/ขั้นตอนการดำเนินงาน
(๒.๔.๑) กต.ตร.สน./สภ. พิจารณาคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรม โดยมีที่ปรึกษา แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนกลาง กรุงเทพมหานคร ได้แก่ ผู้แทนสำนักงานเขต ผู้แทนสถาบันการศึกษา หัวหน้าสถานีตำรวจ กต.ตร.สน. ส่วนภูมิภาค ได้แก่ ผู้แทนฝ่ายปกครองหัวหน้าสถานีตำรวจ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนภาครัฐ กต.ตร.สภ. และเอกชน
(๒.๔.๒) ให้สถานีตำรวจประชุมวางแผนร่วมกับผู้นำ ชุมชน/ท้องถิ่นประชาชน และกลุ่มเป้าหมายเครือข่ายชุมชนลักษณะแนวร่วม
(๒.๔.๓) ให้สถานีตำรวจจัดให้มีการฝึกอบรมสมาชิกอาสาสมัครแนวร่วม
(๒.๔.๔) ให้สถานีตำรวจจัดทำประวัติสมาชิกอาสาสมัครแนวร่วม ออกบัตรหมายเลขสมาชิก บันทึกผลงาน ควบคุมการต่ออายุ การเปลี่ยนแปลงบัตร
(๒.๔.๕) ให้สถานีตำรวจกำหนดระบบและแนวทางการประสานงานระหว่างสมาชิกอาสาสมัครแนวร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
(๒.๔.๖) ให้สถานีตำรวจควบคุม และติดตามผลการปฏิบัติงานของสมาชิกอาสาสมัครแนวร่วมทั้งในและนอกพื้นที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจ

ข้อ ๑๐  การมีส่วนร่วมขององค์กร
เป็นการประสานงาน ช่วยเหลือหรือสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ขององค์กรหรือมูลนิธิ ประกอบด้วย องค์กร ได้แก่ ศูนย์กู้ชีพนเรนทร หน่วยกู้ภัยหรือบรรเทาสาธารณภัย อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน เป็นต้น มูลนิธิ ได้แก่ ป่อเต็กตึ๊ง ร่วมกตัญญู เป็นต้น
(๑) วัตถุประสงค์
เพื่อสร้างเครือข่ายและแสวงหาความร่วมมือจากองค์กรหรือมูลนิธิต่างๆ ให้มีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม รักษาความสงบเรียบร้อยและบรรเทาสาธารณภัย
(๒) ประเด็น/ขอบเขตการดำเนินงาน
(๒.๑) รูปแบบลักษณะการมีส่วนร่วม
เป็นการแสวงหาความร่วมมือจากองค์กรหรือมูลนิธิต่างๆ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับงานในภารกิจของตำรวจ โดยการประสานงาน กำหนดแนวทางในลักษณะการปฏิบัติงานร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือการรักษาความสงบเรียบร้อยร่วมกัน
(๒.๒) กลุ่มเป้าหมาย
องค์กรหรือมูลนิธิของหน่วยงานราชการ เช่น กรมการปกครอง ทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น รวมทั้งองค์กรเอกชน
(๒.๓) บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ
(๒.๓.๑) ให้ความร่วมมือและสนับสนุนข้าราชการตำรวจในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม การรักษาความสงบเรียบร้อยและบรรเทาสาธารณภัย
(๒.๓.๒) แจ้งข้อมูลเบาะแส ข่าวสารเกี่ยวกับอาชญากรรมยาเสพติดและอุบัติภัย
(๒.๔) วิธี/ขั้นตอนการดำเนินงาน
(๒.๔.๑) ให้สถานีตำรวจประสานงานกับองค์กรหรือมูลนิธิที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติหน้าที่ป้องกันปราบปรามอาชญากรรม รักษาความสงบเรียบร้อย และบรรเทาสาธารณภัย
(๒.๔.๒) ให้สถานีตำรวจประชุมปรึกษาหารือเพื่อวางแผน กำหนดแนวทางการปฏิบัติงานและนำแนวทางที่ได้ไปใช้ในการปฏิบัติงานร่วมกัน
(๒.๔.๓) ให้สถานีตำรวจนำเสนอปัญหา อุปสรรค รายงานต่อผู้มีอำนาจเพื่อสั่งการ แก้ไขปัญหา อุปสรรคและข้อขัดข้องต่อไป

ข้อ ๑๑  การมีส่วนร่วมของพนักงานรักษาความปลอดภัยเอกชน
เป็นการแสวงหาความร่วมมือจากพนักงานรักษาความปลอดภัยเอกชนที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รักษาความสงบเรียบร้อยให้กับบุคคลและสถานที่
(๑) วัตถุประสงค์
(๑.๑) เพื่อสร้างเครือข่ายแนวร่วมสนับสนุนตำรวจในการรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชน ชุมชน และท้องถิ่น
(๑.๒) เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนและธุรกิจการรักษาความปลอดภัยในการเสริมสร้างความสงบเรียบร้อยในสังคม
(๒) ประเด็น/ขอบเขตการดำเนินงาน
(๒.๑) รูปแบบลักษณะการมีส่วนร่วม
เป็นการแสวงหาความร่วมมือจากผู้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยและพนักงานรักษาความปลอดภัยเอกชน ให้สนับสนุนกิจการตำรวจในการรักษาความปลอดภัยและรักษาความสงบเรียบร้อยในชุมชน/ท้องถิ่น
(๒.๒) กลุ่มเป้าหมาย
ผู้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยและพนักงานรักษาความปลอดภัยเอกชนที่ปฏิบัติงานในพื้นที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจ
(๒.๓) บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ
(๒.๓.๑) เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานตามกฎหมาย
(๒.๓.๒) แจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย ข้อมูลอาชญากรรม เบาะแสคนร้าย คดีอาญาทั่วไปและคดียาเสพติด
(๒.๓.๓) ประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับพนักงานรักษาความปลอดภัยเอกชนที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยให้กับบุคคลและสถานที่
(๒.๔) วิธี/ขั้นตอนการดำเนินงาน
(๒.๔.๑) ให้สถานีตำรวจเชิญผู้ประกอบธุรกิจการรักษาความปลอดภัยที่มีสำนักงานอยู่ในเขตพื้นที่มาร่วมประชุมหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูลและความร่วมมืออย่างสม่ำเสมออย่างน้อยเดือนละ ๑ ครั้ง
(๒.๔.๒) ให้สถานีตำรวจประสานกับผู้ประกอบธุรกิจการรักษาความปลอดภัยจัดอบรมให้ความรู้ให้กับพนักงานรักษาความปลอดภัยเอกชนในเขตพื้นที่เพื่อให้ช่วยเหลือสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานตำรวจ

หมวด ๒
อำนาจหน้าที่ของอาสาสมัคร
                     

ข้อ ๑๒  กฎหมาย ระเบียบรองรับการดำเนินการ
(๑) อำนาจหน้าที่ของอาสาสมัครตำรวจบ้าน
(๑.๑) ให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในเรื่องอำนาจการจับกุมกรณีความผิดซึ่งหน้า ในฐานะราษฎรคนหนึ่ง
(๑.๒) พระราชบัญญัติสงเคราะห์ผู้ประสบภัย เนื่องจากการช่วยเหลือราชการการปฏิบัติงานของชาติ หรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓
(๒) อำนาจหน้าที่ของอาสาจราจร
(๒.๑) พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔ (๓๙) มาตรา ๑๓๖ และมาตรา ๑๓๗
(๒.๒) ให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เกี่ยวกับการจับกุมผู้กระทำความผิด
(๒.๓) พระราชบัญญัติสงเคราะห์ผู้ประสบภัย เนื่องจากการช่วยเหลือราชการการปฏิบัติงานของชาติ หรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓
(๒.๔) ข้อกำหนดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดคุณสมบัติรายละเอียดเกี่ยวกับการฝึกอบรม หลักสูตร หน้าที่ เครื่องแบบและเครื่องหมายอาสาจราจร ลงวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๒๓
(๒.๕) ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการจ่ายเงินรางวัลเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการจราจร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๖ และหลักเกณฑ์ แบบ หรือวิธีปฏิบัติในการจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการจราจร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๖
(๓) อำนาจหน้าที่ของอาสาสมัครแนวร่วม
(๓.๑) การแจ้งข่าวอาชญากรรม
 - พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
(๓.๒) การแก้ไขปัญหายาเสพติด
 (๓.๒.๑) พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒
 (๓.๒.๒) พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕
(๓.๓) การคุ้มครองเด็ก เยาวชน
 (๓.๓.๑) พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖
 (๓.๓.๒) ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๘ ลงวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๘
(๓.๓.๓) ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชน ในส่วนเกี่ยวกับคดี (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๗ ลงวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๗
(๔) อำนาจหน้าที่ขององค์กรหรือมูลนิธิ
(๔.๑) พระราชบัญญัติสงเคราะห์ผู้ประสบภัย เนื่องจากการช่วยเหลือราชการการปฏิบัติงานของชาติ หรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓
(๔.๒) พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๔๔
(๔.๓) พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖
(๔.๔) พระราชบัญญัติ สถานบริการ พ.ศ. ๒๕๐๙
ฯลฯ
(๕) อำนาจหน้าที่ของพนักงานรักษาความปลอดภัยเอกชน
(๕.๑) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(๕.๒) พระราชบัญญัติสงเคราะห์ผู้ประสบภัย เนื่องจากการช่วยเหลือราชการการปฏิบัติงานของชาติ หรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓

หมวด ๓
เกณฑ์การคัดเลือกและการพ้นสภาพของสมาชิกอาสาสมัคร
                     

ข้อ ๑๓  เกณฑ์การคัดเลือกสมาชิก/การปฏิบัติหน้าที่และการพ้นสภาพ
(๑) อาสาสมัครตำรวจบ้าน
(๑.๑) เกณฑ์การคัดเลือก
(๑.๑.๑) เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้วยความบริสุทธิ์ใจ
(๑.๑.๒) เป็นผู้มีภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ประจำเขตพื้นที่สถานีตำรวจ
(๑.๑.๓) เป็นผู้มีสัญชาติไทย และมีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปีบริบูรณ์ หรือชาวต่างชาติที่สมรสกับคนไทย และมีถิ่นที่อยู่อาศัยอันเป็นปกติในเขตพื้นที่สถานีตำรวจ
(๑.๑.๔) เป็นผู้ที่มีความประพฤติดี มีอาชีพมั่นคง
(๑.๑.๕) ไม่เป็นผู้บกพร่องในทางศีลธรรมอันดี หรือมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าพัวพันเกี่ยวข้องกับการทำผิดกฎหมาย หรือมีอิทธิพลสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมส่วนรวม
(๑.๑.๖) ได้รับการรับรองจากบุคคลที่เชื่อถือได้หรือตำรวจรวม ๓ คน ว่าเป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อยและเชื่อถือได้
(๑.๑.๗) เป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ได้รับการยกย่องหรือเป็นที่นับถือของประชาชนในพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน/ท้องถิ่น
(๑.๑.๘) สมัครใจและมีความตั้งใจที่จะมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือชุมชน/ท้องถิ่น
(๑.๒) การปฏิบัติหน้าที่และการพ้นสภาพ
อาสาสมัครตำรวจบ้านที่ได้รับการแต่งตั้งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ได้คราวละ ๒ ปี โดยอาจได้รับการแต่งตั้งใหม่ได้อีก และพ้นจากหน้าที่ เมื่อ
(๑.๒.๑) ขาดคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ตามเกณฑ์การคัดเลือกที่ระบุไว้ในข้อ (๑.๑)
(๑.๒.๒) ลาออก
(๑.๒.๓) ครบกำหนดการอยู่ปฏิบัติหน้าที่
(๑.๒.๔) ตาย
(๑.๒.๕) หัวหน้าสถานีตำรวจมีคำสั่งซึ่งมีผลทำให้พ้นจากหน้าที่โดยให้ถือคะแนนเสียงข้างมากของ กต.ตร. สถานีตำรวจ
(๒) อาสาจราจร
(๒.๑) เกณฑ์การคัดเลือก
 - เป็นไปตามเกณฑ์การคัดเลือกอาสาสมัครตำรวจบ้าน
(๒.๒) การปฏิบัติหน้าที่และการพ้นสภาพ
อาสาจราจรที่ได้รับการแต่งตั้งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ได้คราวละ ๒ ปี โดยอาจได้รับการแต่งตั้งใหม่ได้อีก และพ้นจากหน้าที่ เมื่อ
(๒.๒.๑) ขาดคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ตามเกณฑ์การคัดเลือกที่ระบุไว้ในข้อ (๒.๑)
(๒.๒.๒) ลาออก
(๒.๒.๓) ครบกำหนดการอยู่ปฏิบัติหน้าที่
(๒.๒.๔) ตาย
(๒.๒.๕) คณะทำงานดำเนินการอาสาจราจรมีคำสั่งซึ่งมีผลทำให้พ้นจากหน้าที่โดยให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก
(๓) อาสาสมัครแนวร่วม
(๓.๑) คุณสมบัติอาสาสมัครแนวร่วมเป็นไปตามเกณฑ์การคัดเลือกอาสาสมัครตำรวจบ้าน
(๓.๒) การปฏิบัติหน้าที่และการพ้นสภาพ
อาสาสมัครแนวร่วมได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ได้ตามระยะเวลาที่สถานีตำรวจกำหนด โดยอาจได้รับการแต่งตั้งใหม่ได้อีก และพ้นจากหน้าที่เมื่อ
(๓.๒.๑) ขาดคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ตามเกณฑ์การคัดเลือกที่ระบุไว้ในข้อ (๓.๑)
(๓.๒.๒) ลาออก
(๓.๒.๓) ครบกำหนดการอยู่ปฏิบัติหน้าที่
(๓.๒.๔) ตาย
(๔) พนักงานขององค์กรหรือมูลนิธิ
(๔.๑) พนักงานขององค์กรหรือมูลนิธิต้องมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ขององค์กรหรือมูลนิธินั้นๆ
(๔.๒) การปฏิบัติหน้าที่และการพ้นสภาพ
พนักงานขององค์กรหรือมูลนิธิที่ได้รับการแต่งตั้ง ให้ปฏิบัติหน้าที่ได้ตามระยะเวลาที่ระเบียบหรือข้อบังคับขององค์กรหรือมูลนิธิกำหนด โดยอาจได้รับการแต่งตั้งใหม่ได้อีกและพ้นจากหน้าที่เมื่อ
(๔.๒.๑) ขาดคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ในข้อ (๔.๑)
(๔.๒.๒) ลาออก
(๔.๒.๓) ครบกำหนดการอยู่ปฏิบัติหน้าที่
(๔.๒.๔) ตาย
(๕) พนักงานรักษาความปลอดภัยเอกชน
(๕.๑) พนักงานรักษาความปลอดภัยเอกชนต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
(๕.๑.๑) มีสัญชาติไทย
(๕.๑.๒) เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้วยความบริสุทธิ์ใจ
(๕.๑.๓) เป็นบุคคลผู้มีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน ๖๕ ปี
(๕.๑.๔) ไม่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรังหรือติดยาเสพติดให้โทษ
(๕.๑.๕) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถหรือไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๕.๑.๖) ไม่เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือเคยกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาก่อน
(๕.๑.๗) เป็นผู้มีความประพฤติดีและมีศีลธรรมอันดีไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของประเทศ หรือมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าพัวพันเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมาย หรือมีอิทธิพล สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมส่วนรวม
(๕.๑.๘) เป็นบุคคลที่สำเร็จการศึกษาภาคบังคับตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด
(๕.๑.๙) ไม่เป็นพระภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(๕.๒) การปฏิบัติหน้าที่และการพ้นสภาพ
พนักงานรักษาความปลอดภัยเอกชนที่ได้รับแต่งตั้ง ปฏิบัติหน้าที่ได้ตามระยะเวลาที่สถานีตำรวจกำหนด โดยอาจได้รับการแต่งตั้งใหม่ได้อีก และพ้นจากหน้าที่ เมื่อ
(๕.๒.๑) ขาดคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ตามเกณฑ์ที่ระบุไว้ในข้อ (๕.๑)
(๕.๒.๒) ลาออก
(๕.๒.๓) ครบกำหนดการอยู่ปฏิบัติหน้าที่
(๕.๒.๔) ตาย

หมวด ๔
การฝึกอบรม
                     

ข้อ ๑๔  การฝึกอบรม
(๑) อาสาสมัครตำรวจบ้าน
(๑.๑) ให้สถานีตำรวจจัดทำแผนการฝึกอบรมบุคคลผู้สมัครใจเป็นอาสาสมัครตำรวจบ้านเข้ารับการฝึกอบรม ณ ศูนย์ฝึกอบรมหรือสถานที่ที่เหมาะสม ระยะเวลาการฝึกอบรมจำนวน ๒ วัน หรือตามความเหมาะสม
(๑.๒) ให้กองบังคับการตำรวจนครบาล/ตำรวจภูธรจังหวัดสนับสนุนวิทยากรจากหน่วยงานภายในและภายนอกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
(๑.๓) หัวข้อวิชา แบ่งออกเป็นภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยเลือกวิชาให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ได้แก่
(๑.๓.๑) ภาคทฤษฎี
(๑) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการก่อวินาศกรรมและความไม่สงบเรียบร้อยในสังคม จำนวน ๒ ชั่วโมง ได้แก่ ความสำคัญของปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยในสังคม ปัญหาการก่อวินาศกรรมและการจลาจล ปัญหาอาชญากรรม และแนวทางการแก้ไขปัญหา เป็นต้น
(๒) การช่วยเหลือและสงเคราะห์ผู้ประสบภัย จำนวน ๓ ชั่วโมง ได้แก่ หลักการสงเคราะห์ผู้ประสบภัย ระเบียบและหลักเกณฑ์การให้การช่วยเหลือและสงเคราะห์ผู้ประสบภัย เป็นต้น
(๓) ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายเบื้องต้น จำนวน ๓ ชั่วโมง
(๔) ภาควิชาการตำรวจ วิชาทหาร การบรรเทาสาธารณภัย จำนวน ๒ ชั่วโมง
(๕) ความรู้เกี่ยวกับการกู้ภัยเบื้องต้น จำนวน ๒ ชั่วโมง ได้แก่ การค้นหาผู้ประสบภัยและช่วยชีวิต การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสถานที่สูง เป็นต้น
(๖) ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติดและผู้มีอิทธิพล จำนวน ๒ ชั่วโมง ได้แก่ สถานการณ์เกี่ยวกับยาเสพติด ประเภทและพิษยาเสพติด มาตรการแก้ไขปัญหายาเสพติด มาตรการปราบปรามผู้มีอิทธิพล เป็นต้น
(๗) เทคนิคการสังเกตจดจำ จำนวน ๒ ชั่วโมง
(๘) ความรู้ทั่วไป จำนวน ๒ ชั่วโมง ได้แก่ การประสานการปฏิบัติ และการแจ้งข้อมูลข่าวสารให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ การให้บริการและอำนวยความสะดวกด้านการจราจร การร่วมปฏิบัติกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านไกล่เกลี่ยกรณีข้อพิพาทเบื้องต้นในเขตพื้นที่ และการปฏิบัติตามนโยบายของหัวหน้าสถานีตำรวจที่มอบหมายให้ปฏิบัติ เป็นต้น
(๑.๓.๒) ภาคปฏิบัติ ได้แก่ ฝึกยุทธวิธีตำรวจ ฝึกตะบอง ทดสอบกำลังใจ (โรยตัว , โดดหอ) การต่อสู้ป้องกันตัว เป็นต้น
(๒) อาสาจราจร
(๒.๑) ให้สถานีตำรวจจัดทำแผนการฝึกอบรมบุคคลผู้สมัครใจเป็นอาสาจราจร เพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานตำรวจ ณ ศูนย์ฝึกอบรมหรือสถานที่ที่เหมาะสม ระยะเวลาการฝึกอบรม จำนวน ๓ วัน
(๒.๒) ให้กองบังคับการตำรวจนครบาล/ตำรวจภูธรจังหวัดสนับสนุนวิทยากรจากหน่วยงานภายในและภายนอกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
(๒.๓) หัวข้อวิชา แบ่งออกเป็นภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยเลือกวิชาให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ได้แก่
(๒.๓.๑) ภาคทฤษฎี
(๑) ความรู้เกี่ยวกับมาตรการในการป้องกันอุบัติภัยทางถนนระเบียบที่เกี่ยวข้อง และมาตรการในการสร้างความปลอดภัย จำนวน ๒ ชั่วโมง
(๒) การป้องกันและแก้ไขปัญหาจราจร และหน้าที่อาสาจราจร จำนวน ๒ ชั่วโมง
(๓) ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย จำนวน ๔ ชั่วโมง ได้แก่ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ พระราชบัญญัติสงเคราะห์ผู้ประสบภัย เนื่องจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติหรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น